Smart Factory หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมในประเทศไทยกำลังเติบโต โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบ Automation และ IoT (Internet of Thing) ซึ่งมีอัตราการสั่งซื้อจากต่างประเทศที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ต่างก้าวไปในทิศทางเดียวกันคือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นโรงงานอัฉริยะ หรือ Smart factory นั้น สามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน และลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นในการผลิตชิ้นงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้ ในบทความนี้เราจะมาเล่าถึงความแตกต่างของ Smart factory และกระบวนการ “กว่าจะมาเป็นโรงงานอัฉริยะ” มีขั้นตอนกระบวนการอย่างไร
ทำความเข้าใจ Smart Factory คืออะไร ?
“Smart Factory” คือการนำเอาเทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยให้ระบบการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมีความสะดวกมากขึ้น เพิ่มการทำงานให้เป็นระบบอัตโนมัติ (Automation) และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในชิ้นงานการผลิตให้มีคุณภาพ ทั้งในด้านการตรวจวัด การเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์แบบ Real Time รวมไปถึงการสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อลดการใช้ทรัพยากรมนุษย์ ลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ (Human Error)
ความแตกต่างระหว่าง Factory vs. Smart Factory
เราสามารถขยายความความแตกต่างระหว่างโรงงานทั่วๆ ไปและโรงงานระบบอัจฉริยะว่ามีความต่างกันอย่างไร และเหตุผลว่าทำไมจึงให้ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาสู่โรงงานระบบอัจฉริยะ
- ลดจำนวนแรงงาน แต่กำลังการผลิตไม่ลดลง ในกระบวนที่ทำซ้ำไปซ้ำมา และการนำระบบอัตโนมัติเข้าไปยังช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์อีกด้วย
- สามารถสร้างกำไรได้ในระยาว ถึงแม้การลงทุนในระบบอัตโนมัติจะใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง ทั้งในการจัดซื้ออุปกรณ์ การบำรุงรักษา แต่หากเทียบกับการใช้แรงงานมนุษย์ในการคุมเครื่องจักรแล้ว การใช้ระบบอัตโนมัติมีความทนทาน ทำให้ผลิตชิ้นงานได้มากกว่า
- เวลาการผลิตลดลง เพราะเครื่องจักรสามารถเพิ่มความเร็วในการทำงานได้ และยังมีชั่วโมงในการทำงานยาวนานกว่ามนุษย์ค่อนข้างมาก
- สามารถรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเพื่อวิเคราะห์การทำงาน โรงงานอัจฉริยะสามารถรวบรวมข้อมูล (Data) และนำมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถมองเห็นข้อมูลเชิงลึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานได้ ข้อมูลที่ได้มีส่วนช่วยเป็นอย่างมากต่อการคำนวณแผนการผลิต โดยสามารถนำมาคิดคำนวณเพื่อมองหาแนวทางในการลดต้นทุน หรือปรับเปลี่ยนเพื่อร่นระยะเวลาการทำงานลงได้
- ช่วยลดโอกาสในการผิดพลาด ที่เกิดจากการบาดเจ็บเพราะเครื่องจักร Smart Factory นั้นเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และวางแผนการทำงานภายในโรงงานให้ออกมาเป็นรูปแบบอัตโนมัติ เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดได้อย่างแม่นยำ
ดังนั้นสิ่งที่ทำให้ Smart Factory แตกต่างจากโรงงานทั่วๆไปนั่นก็คือ การทำให้นวัตกรรมและเทคโนโลยี “ทำงานร่วมกัน” เพื่อผลักดันขีดความสามารถให้โรงงานเหล่านั้นสูงขึ้น
เมื่อเข้าใจความหมายและความแตกต่างของ Smart Factory แล้ว คอนเทนต์ต่อไป เราจะมาพูดคุยกันถึงกระบวนการการทำงาน ว่ากว่าจะมาเป็น “Smart Factory” ต้องมีองค์ประกอบด้านใดบ้าง และจะมีวิธีการวางแผนการทำงานอย่างไร
องค์ประกอบที่สำคัญในการวางระบบ Smart Factory
การทำงานของ Smart Factory ในแต่ละโรงงานจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ซึ่งสามารถสรุประบบการทำงานได้ดังนี้
- Prediction การคาดการณ์ การคาดการณ์การผลิตล่วงหน้าโดยการประเมินจากข้อมูลที่มี รวมถึงออเดอร์จากลูกค้า ซึ่งคำสั่งซื้อทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ในระบบเพื่อนำมาประเมินในภายหลัง โดยข้อมูลจะอ้างอิงจากซอฟท์แวร์การจัดการหรือระบบประเภท MRP หรือ ERP เพื่อเพิ่มความแม่นยำ และความรวดเร็วในการจัดการ
- Planning & Scheduling การวางแผนและการกำหนดการทำงาน โดยอ้างอิงจากข้อมูลข้างต้น ว่าเราจะต้องวางแผนการผลิตทั้งหมดเท่าไหร่ถึงจะพอดีกับความต้องการของลูกค้า
- Analytic การวิเคราะห์คิดคำนวณ การวิเคราะห์การจัดการผลิตจากการวางแผนการผลิตนั้น จะผลิตอย่างไรด้วยเครื่องจักรประมาณไหน กำลังคนเท่าไหร่จึงจะคุ้มค่ามากที่สุด
- Execution การปฏิบัติงาน ด้วยอุปกรณ์ที่มีการติดตั้งระบบ IoT จะช่วยให้เราสามารถติดตามข้อมูลการผลิตทุกอย่างได้ และดำเนินการผลิตด้วยระบบ Automation ที่มนุษย์ไม่จำเป็นต้องลงไปทำงานด้วยตัวเอง เป็นแค่เพียงผู้สั่งการและผู้ตรวจสอบงานเท่านั้น
แนะนำสำหรับผู้ที่สนใจอยากเสริมทักษะ ให้มีความรู้ด้านการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการวางระบบ ก้าวสู่ Smart Factory เราขอแนะนำหลักสูตร Digital Manufacturing & IoT Program ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการค้นหาปัญหา การวางเเผน การเเก้ปัญหาโดยหลักการ Lean Manufacturing ผสมผสานกับการวางระบบ IoT สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง เพื่อการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นอกจากนี้ทางสถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพลยังมี หลักสูตร Up-skill, Re-skill การผลิตสาขาต่างๆ ตรงความ ต้องการของภาคอุตสาหกรรมในยุค 4.0
สรุป
Smart Factory หรือโรงงานอัจฉริยะ ไม่ใช่เพียงการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Automation) มาทำงานในโรงงานเท่านั้น ยังรวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งคือ IoT หรือ Internet of Thing ที่เป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมทุกสิ่งทุกอย่างในโรงงานเข้าสู่ใจกลางอีกด้วย ทำให้ไม่ว่าจะผู้บริหาร ผู้จัดการ ไปจนถึงพนักงาน สามารถรับรู้สิ่งที่เครื่องจักร กำลังปฏิบัติงานได้ทันที รวมถึงเห็น Flow การทำงานทั้งหมด ว่ามีความลื่นไหล หรือติดขัดในขั้นตอนใด แต่ท้ายที่สุด การวางระบบ IoT นั้น ต้องมีการศึกษาและตรวจสอบความต้องการของโรงงานของคุณเอง เพื่อให้ได้อุปกรณ์ที่ตรงตามความต้องการ และสามารถนำไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในโรงงานได้จริง และก้าวเข้าสู่ Smart Factory ได้อย่างมีประสิทธิภาพ