กระบวนการผลิตอุตสาหกรรม คืออะไร ทำไมเราควรรู้ ?

กระบวนการผลิต

กระบวนการผลิตอุตสาหกรรม เป็นกระบวนการผลิตสินค้าที่ใช้เครื่องจักรและแรงงาน และโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะทาง  ที่ต้องมีความเชี่ยวชาญสำหรับผลิตสินค้าในปริมาณมาก โดยรวมแล้ว กระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมมีความเกี่ยวข้องกันหลายขั้นตอนซึ่งต้องใช้เครื่องจักรเฉพาะทาง แรงงานฝีมือ และการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายมีคุณภาพสูงและเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด กระบวนการนี้ยังรวมถึงบุคลากรหลายฝ่าย เช่น วิศวกร ช่างเทคนิค และผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่าการผลิตดำเนินไปอย่างราบรื่น

ความหมายของ กระบวนการผลิต คืออะไร 

กระบวนการผลิต หมายถึง (Production System) กระบวนการที่นำเอาสิ่งของหรือวัตถุดิบเข้ามาแปรสภาพเพื่อเพิ่มมูลค่า จากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ วัตถุดิบจะถูกแปลงสภาพให้เป็นผลผลิตสำเร็จรูป เหมือนกันกับ Manufacturing System หรือระบบการผลิต แต่แตกต่างกันตรงที่ Production  System จะรวมเอางานบริการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเข้าไปด้วย เป็นการสร้างสินค้าและบริการโดยใช้ปัจจัยการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยที่ผลผลิตที่ได้จากกระบวนการผลิต ต้องมีปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการ ได้ผลผลิตทันเวลา

องค์ประกอบหลักกระบวนการผลิต (production process)

  1. ปัจจัยการผลิต (Input)

ทรัพยากรต่างๆที่ทำให้เกิดกระบวนการผลิตขึ้นมา เช่น วัตถุดิน เครื่องจักร อุปกรณ์ แรงงาน ระบบการจัดการ ทรัพยากรที่ใช้จะต้องมีต้นทุนในการผลิตต่ำ เพื่อให้สินค้าได้เปรียบคู่แข่งในเรื่องของราคาในท้องตลาด

  1. กระบวนการแปลงสภาพ (Conversion Process)

กระบวนการขั้นตอนที่ทำให้ปัจจัยการผลิต ถูกแปลงสภาพให้กลายเป็นผลผลิตตามที่ต้องการ ได้แก่ การวางแผน การเตรียมวัตถุดิบ การเก็บวัตถุดิบ การขนส่ง เป็นต้น

  1. ผลผลิต (Output)

ผลลัพธ์ที่ได้จากการแปลงสภาพระบบการผลิตที่มีมูลค่า อันเนื่องมาจากการที่ได้ผ่านกระบวนการแปลงสภาพมาแล้วเป็นผลผลิต แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สินค้า (Goods) และบริการ (Service)

ที่มาของข้อมูล : กระบวนการผลิต

ความสำคัญของกระบวนการผลิต

กระบวนการผลิตมีความสำคัญสูงสุดในการผลิตสินค้าหรือบริการ เพราะเป็นกระบวนการที่ช่วยควบคุมการผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ความสำเร็จของการผลิตจึงขึ้นอยู่กับปัจจัย และขั้นตอนต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่แรกของกระบวนการผลิต และการวางแผนกระบวนการผลิตจะช่วยลดต้นทุน ลดเวลาในการผลิต ในการใช้วัตถุดิบและเครื่องจักร ที่สำคัญยังช่วยลดความเสี่ยงต่างๆในการผลิตอีกด้วย ทำให้การผลิตสินค้ามีคุณภาพดี นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น การมีกระบวนการผลิตที่เหมาะสมจะช่วยให้ธุรกิจของคุณประสบความสำเร็ขและเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

ขั้นตอนของกระบวนการผลิต (production process) 

การผลิตที่มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องคํานึงถึงปัจจัยด้านปริมาณ คุณภาพ เวลา และราคา ซึ่งงที่กล่าวมาข้างต้น จะต้องนํามารวมไว้ในระบบการผลิต โดยมีการวางแผนการผลิตและควบคุมการผลิต เพื่อให้ผลผลิตออกมาสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งมีขั้นตอนอะไรบ้างไปดูกัน 

1. ขั้นตอนแรก การวางแผน ต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างเหมาะสม และตรงตามเป้าหมายที่ต้องการ ในการวางแผนการผลิตนั้นจะกำหนดเป้าหมายย่อยไว้ในแผนกการทำงานต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับกับแผนการดำเนินการที่ใหญ่ขึ้น ให้บรรลุและมีประสิทธิภาพตามความต้องการต้องการ 

2. ขั้นตอนสอง การดําเนินงาน ขั้นตอนนี้จะเริ่มได้เมื่อรายละเอียดต่างๆในการวางแผนได้ถูกกำหนดไว้ในแผนการผลิต เป็นการช่วยให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ ตั้งแต่เริ่มต้นจนผลิตเสร็จส่งมอบงานให้ลูกค้า

3. ขั้นตอนสาม การควบคุม เป็นขั้นตอนการตรวจสอบการดำเนินงาน ว่าเป็นไปตามที่เรากำหนดหรือไม่ ติดตามผลการดำเนินงานโดยใช้การควบคุมการผลิตสินค้า การควบคุมกำลังคน การควบคุมเวลา  โดยปรับปรุงแผนงานให้สอดคล้องต่อการผลิต  เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายหลัก และมีประสิทธิภาพของการผลิตที่ดีขึ้น

ประเภทกระบวนการผลิต มีอะไรบ้าง แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร

1.แบ่งตามลักษณะผลิตภัณฑ์

1.1 ผลิตตามคำสั่งซื้อ (Made-to-order)

การผลิตแบบนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของลูกค้าแต่ละคน  การเตรียมวัตถุดิบการผลิตจะไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ผู้ผลิตต้องมีความสามารถและเชี่ยวชาญเพื่อจะผลิตแบบที่ลูกค้าต้องการได้ เช่น การตัดเสื้อผ้า การตัดชุดแต่งงาน การรับสร้างบ้าน

1.2 ผลิตเพื่อรอจำหน่าย (Made-to-stock)

การผลิตเป็นการผลิตที่เป็นมาตราฐานเดียวกันตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ การจัดหาวัตถุดิบและเตรียมการผลิตสามารถเตรียมสั่งซื้อได้ล่วงหน้า เครื่องจักรอุปกรณ์ต้องใช้เฉพาะงานแต่ละงาน เช่น การผลิตสบู่ การผลิตรถยนต์

1.3 ผลิตเพื่อรอคำสั่งซื้อ  (Assembly-to-order)

การผลิตชิ้นส่วนที่ประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปได้หลายชนิด ชิ้นส่วนเหล่านี้จะมีลักษณะแยะเป็นชิ้นส่วนจำเพาะ เมื่อมีการสั่งซื้อเข้ามาจึงจะทำการประกอบให้เป็นสินค้าตามที่ลูกค้าต้องการ เช่น การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้อะไหล่เหมือนกัน 

2.แบ่งตามลักษณะระบบการผลิตและปริมาณการผลิต

2.1 ผลิตแบบโครงการ (Project Manufacturing)

เป็นการผลิตขนาดที่ใหญ่ และมีราคาแพง มีลักษณะการผลิตเฉพาะตามความต้องการของลูกค้า การผลิตแบบโครงการมีปริมาณการผลิตต่อครั้งน้อยมาก หรืออาจจะเป็นการผลิตครั้งเดียวแต่ใช้ระยะเวลานาน การผลิตจะเกิดตามสถานที่ตั้งของโครงการนั้นๆ เมื่อเสร็จงานก็จะย้ายทรัพยากร (คน แรงงาน เครื่องจักร )ไปโครงการใหม่ เช่น การสร้างถนน สร้างทางด่วน 

2.2 ผลิตแบบไม่ต่อเนื่อง  (Intermit ten Production)

เป็นการผลิตที่มีความต้องการหลากหลายของลูกค้า มีปริมาณการผลิตต่อครั้งเป็นล็อต เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตค่อนข้างบ่อย ผลผลิตไม่ค่อยมีมาตราฐาน เครื่องจักรที่ผลิตจะผลิตสินค้าชนิดหนึ่งได้ตามปริมาณที่ต้องการ จึงเปลี่ยนไปผลิตสินค้าชนิดอื่นโดยใช้เครื่องจักรเดิม

2.3 ผลิตแบบกลุ่ม (Batch Production)

การผลิตแบบกลุ่มจะคล้ายกับการผลิตแบบไม่ต่อเนื่อง เป็นการผลิตประเภทเดียวกัน ต่างกันที่การผลิตแบบกลุ่ม มีลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตแยกเป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มจะผลิตตามมาตราฐานเดียวกันทั้งล็อต ขั้นตอนการผลิตมีแบบแผนลำดับตามล็อตการผลิต ใช้กับการผลิตตามคำสั่งซื้อ และ การผลิตเพื่อรอจำหน่าย เช่น การผลิตเสื้อโปโล

2.4 ผลิตแบบไหลผ่าน (Line- Flow

เป็นการผลิตที่เหมือนกันในปริมารมาก เช่น การผลิตแชมพู การผลิตเครื่องปรับอากาศ การผลิตแบบไหลผ่านจะมีอุปกรณ์เครื่องจักรที่เฉพาะของแต่ละสายการผลิตแยกกัน ไม่ใช่เครื่องจักรร่วมกัน เพื่อการผลิตที่รวดเร็ว ได้ปริมาณมาก เหมาะกับการผลิตเพื่อรอจำหน่าย หรือ การผลิตเพื่อรอคำสั่งซื้อ

2.5 ผลิตแบบต่อเนื่อง  (Continuous Flow Production) 

การผลิตชนิดเดียวในปริมาณมากอย่างต่อเนื่องโดยใช้เครื่องจักรเฉพาะเท่านั้น มักจะเป็นการผลิตหรือแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นวัตถุดิบในการผลิตขั้นตอนต่อไป เช่น การกลั่นน้ำมัน การทำกระดาษ

ที่มาข้อมูล :  ประเภทการผลิตลักษณะเฉพาะ, ประเภทการผลิตลักษณะระบบการผลิต

สรุป

เป้าหมายสูงสุดของกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม ก็คือการเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุน มีการรับประกันคุณภาพของสินค้าที่ผลิต เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย กระบวนการผลิตจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี เครื่องจักร อุปกรณ์ รวมถึงแรงงานและเทคนิคต่างๆ  ดังนั้นการบริหารจัดการการผลิตให้เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการผลิตสินค้าและบริการอุตสาหกรรม และส่งผลต่อความสำเร็จในธุรกิจในอนาคต
Scroll to Top