การเลือกใช้งาน และการดูแลรักษา ไมโครมิเตอร์ อย่างถูกวิธี

ไมโครมิเตอร์คือ เครื่องมือวัดที่ใช้งานด้านวิศวกรรม เพื่อวัดขนาดที่ต้องการความละเอียดแม่นยำสูง  โดยใช้วัดความกว้าง ยาว หรือ ความหนาของวัตถุสามารถวัดได้ละเอียดสูงถึง 0.001 mm. (1/1000 มิลลิเมตร)

“ไมโครมิเตอร์” คือ 1 ใน เครื่องมือวัด พื้นฐานที่ทุกอุตสาหกรรมมี เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดขนาดได้ทั้งความกว้าง ยาว หรือความหนาของวัตถุที่มีขนาดเล็กมีความละเอียดสูง สำหรับไมโครมิเตอร์นั้น มีการออกแบบมาหลากหลายรุ่น ตามประเภทของการใช้งานที่แตกต่างกัน โดยบทความนี้จะพาไปรู้จัก พื้นฐานความรู้ของเครื่องมือ การเลือกใช้งาน และการดูแลรักษาไมโครมิเตอร์ (Micrometer) อย่างถูกวิธี เพื่อที่ผู้ใช้งานจะได้เลือกใช้เครื่องมือได้อย่างถูกต้อง สามารถรักษาเครื่องมือวัดให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และยังคงประสิทธิภาพในการวัด

ทำความรู้จัก เครื่องมือวัด ไมโครมิเตอร์ (Micrometer) 

ไมโครมิเตอร์ (Micrometer) เป็นเครื่องมือวัดความละเอียดที่สามารถ วัด ได้ทั้งความกว้าง ยาวหรือความหนาของวัตถุที่มีขนาดเล็ก และต้องการความละเอียดสูง โดยพื้นฐานการทำงานของไมโครมิเตอร์อาศัยหลักการเคลื่อนที่ตามเส้นรอบวงของเกลียว แล้วแสดงผลจากระยะที่เคลื่อนไปได้ออกมาเป็นตัวเลขของขนาดวัตถุที่ทำการวัด 

ภาพ ไมโครมิเตอร์ (Spline Micrometer)

ไมโครมิเตอร์มีการออกแบบให้สามารถใช้งานได้หลากหลายลักษณะ เพื่อให้ใช้งานได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยชนิดของไมโครมิเตอร์ที่นิยมใช้งานแบ่งได้เป็น 3 ชนิดได้แก่ 

  1. ไมโครมิเตอร์แบบวัดภายนอก (Outside Micrometer) ออกแบบมาสำหรับวัดด้านนอกของวัตถุ – เส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก (OD)
  2. ไมโครมิเตอร์แบบวัดภายใน (Inside Micrometer) วัดด้านในหรือเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน (ID)
  3. ไมโครมิเตอร์สำหรับวัดความลึก (Depth Micrometer) วัดความลึกของรูช่องหรือช่อง

โดยสามารถใช้ไมโครมิเตอร์ชนิดมาตรฐานสำหรับการวัดละเอียดของรายการที่มีความยาวความลึก และความหนาไม่เกินหนึ่งนิ้ว อย่างไรก็ตามมีโมเดลขั้นสูงบางรุ่นที่ช่วยให้สามารถทำการวัดได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีตัวเลือกในการลงทุนในไมโครมิเตอร์ทั่งสำหรับการวัดวัตถุที่มีรูปร่างและขนาดที่หลากหลาย ความสามารถในการพกพาใช้งานง่ายและความสม่ำเสมอในการวัดเป็นเพียงข้อดีบางประการของไมโครมิเตอร์ที่สำคัญ 

ส่วนประกอบของ ไมโครมิเตอร์

ไมโครมิเตอร์ (Micrometer) มีส่วนประกอบมากมาย เพื่อช่วยให้เราเข้าใจการทำงานของไมโครมิเตอร์ (Micrometer) มากขึ้น ก่อนอื่นขออธิบายถึงส่วนประกอบต่าง ๆ ที่สำคัญในไมโครมิเตอร์

1. โครงเหล็ก (Frame) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยยึดส่วนประกอบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยทั่วไปบนโครงจะระบุแบรนด์ ช่วงการวัดและค่าความละเอียดด้วย 

2. แกนรับ (Anvil) ใช้รองรับชิ้นงานในขณะที่กำลังทำการวัด ลักษณะเป็นเพลายึดอยู่กับโครง

3. แกนวัด (Spindle) ทำหน้าที่เป็นแกนในการเคลื่อนที่เพื่อทำการวัด สามารถเคลื่อนที่เข้า-ออก ได้

4. ปุ่มปรับล็อก (Spindle Lock)  ใช้ล็อกแกนวัดไม่ให้เคลื่อนที่ เพื่อการอ่านค่าที่แม่นยำ ไมโครมิเตอร์บางรุ่นเป็นแบบหมุนนอต และบางรุ่นเป็นก้านเล็กๆ สามารถโยกเพื่อล็อกหรือคลายล็อก สะดวกต่อการใช้งานและการบำรุงรักษา

5. ปลอกสเกล (Sleeve) มีลักษณะเป็นก้านปลอกทรงกระบอก และมีขีดสเกลหลักอยู่ตลอดความยาว และมีเส้นขีดยาวแนวนอน เรียกว่า “เส้นอ้างอิง” (Index Line)

6. หัวหมุนกระทบ (Ratchet knob)  จะอยู่ด้านท้ายสุดของแกนวัด เมื่อหมุนเพื่อให้แกนวัดเคลื่อนที่สัมผัสเข้าชิ้นงาน ทุกครั้งที่หมุนแกนวัดเข้าใกล้จะสัมผัสชิ้นงานควรหยุดหมุน แล้วค่อย ๆเลื่อนเพื่อให้แกนวัดสัมผัสชิ้นงานเบา ๆ ให้ปรับแกนวัดสัมผัสชิ้นงานได้พอดีและไม่ตึงเกินไป เราจะปรับหัวหมุนกระทบโดยหมุนตามเข็มนาฬิกาซึ่งจะมีเสียงดังคลิกโดยให้เสียงดัง 2 – 3 คลิกเท่านั้น

7. ปลอกหมุนวัด (Thimble) ทำหน้าที่หมุนเข้าวัดชิ้นงาน ลักษณะเป็นปลอกทรงกระบอกสวมอยู่กับก้านเครื่องวัดไมโครมิเตอร์ ปลอกสเกลที่ด้านปลายจะมีสเกลเล็กไมโครมิเตอร์ เพื่ออ่านค่าการวัด

8. ปุ่มฟังก์ชั่น (Function) สำหรับเปลี่ยนหน่วยระหว่าง มิลลิเมตร และ นิ้ว

ชนิดของ ไมโครมิเตอร์ และการใช้งาน

สำหรับการเลือกประเภทของไมโครมิเตอร์นั้น ต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการใช้งานเป็นหลัก โดยการเลือกประเภทของไมโครมิเตอร์จะพิจารณาจาก

1. วัตถุที่จะใช้วัด เช่น ความหนา ความกว้าง หรือ ลึก ภายในวัตถุ

2. เลือกใช้จากค่าความละเอียดที่ต้องการ เช่นค่าความละเอียดต่ำ (1/100 mm) หรือ ค่าความละเอียดสูง (1/10000 mm)

3. เลือกเป็นไมโครมิเตอร์แบบอนาล็อกเมื่อไม่ต้องการวัดค่าความละเอียดมาก ช่วยลดต้นทุนหรือ เลือกไมโครมิเตอร์แบบดิจิตอลซึ่งจะสามารถส่งผลการอ่านค่าเข้าคอมพิวเตอร์ได้ และสามารถ วัดได้ละเอียดขนาด 0.001 mm. (1/1000 มิลลิเมตร)

  1. ไมโครมิเตอร์ปากแบน : ใช้วัดเส้นผ่าศูนย์กลางภายในวัตถุและความกว้างร่องรูป
  2. ไมโครมิเตอร์แบบวัดภายในประเภทคาลิปเปอร์ : ใช้วัดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเล็กและวัดความกว้างของร่อง
  3. ไมโครมิเตอร์ปากเล็ก : ใช้สำหรับวัดเส้นผ่าศูนย์กลางเพลาหรือเฟือง
  4. ไมโครมิเตอร์วัดท่อ : ใช้วัดความหนาของท่อชนิดต่าง ๆ 
  5. ไมโครมิเตอร์หัวแหลม : ใช้วัดเส้นผ่าศูนย์กลางภายในร่องหรือเกลียว
  6. ไมโครมิเตอร์วัดเกลียวสกรู : ใช้วัดเกลียวสกรู
  7. ไมโครมิเตอร์วัดนอกแบบจาน : ใช้วัดความห่างของซี่ฟันเฟือง
  8. ไมโครมิเตอร์ Ball Tooth Thickness : ใช้วัดความกว้างเฟืองขนาดเล็ก
  9. ไมโครมิเตอร์แบบ V-anvil : ใช้วัดขนาดของดอกกัด

ขั้นตอนการวัดด้วย ไมโครมิเตอร์

ภาพ การเช็ดทำความสะอาดไมโครมิเตอร์

1. ทำความสะอาดไมโครมิเตอร์โดยใช้ผ้าที่อ่อนนุ่มเช็ดฝุ่น คราบสกปรกบนโครง ปลอกเลื่อนรวมถึงแกนรับและแกนวัด
2. ตรวจสอบการเซตศูนย์ โดยหมุนหัวหมุนกระทบให้หน้าสัมผัสแกนวัดสัมผัสแกนรับจนมีเสียง 3 คลิก และปรับขีดสเกลให้เป็นศูนย์สำหรับไมโครมิเตอร์แบบอนาล็อก หรือกดฟังก์ชั่นเซตศูนย์สำหรับไมโครมิเตอร์แบบดิจิตอล
3. จัดตำแหน่งของแกนรับให้สัมผัสกับชิ้นงานให้สนิทเสียก่อน

4. ค่อยๆหมุนปลอกเลื่อนจนหน้าสัมผัสแกนวัดสัมผัสชิ้นงานและต้องตั้งฉากกับผิวงาน ที่จะวัดหมุนหัวหมุนกระทบจนมีเสียง 3 คลิก เพื่อให้ชิ้นงานแนบกับเครื่องมือ

 5. ปรับปุ่มล็อกเพื่อไม่ให้แกนวัดเคลื่อนที่ จากนั้นอ่านค่าไมโครมิเตอร์

การดูแลรักษา ไมโครมิเตอร์ อย่างถูกวิธี

การดูแลและเก็บรักษาไมโครมิเตอร์ให้ถูกต้อง ถูกวิธี ก็จะช่วยให้ยืดอายุการใช้งานไมโครมิเตอร์ของคุณได้ โดยยังคงประสิทธิการการใช้งานให้เหมือนใหม่เสมอ โดยหลักการทั่วไปในการดูแลรักษา และทำความสะอาด สามารถทำได้โดย

1. ใช้ผ้าสะอาดหรือกระดาษทิชชู่ร่วมกับไอโซโพรพิลแอลกฮออล์ (IPA) และเช็ดทำความสะอาดไมโครมิเตอร์  หลังการใช้งานทุกครั้ง 

2. ทำความสะอาดปากวัดทั้ง 2 ข้างอยู่เป็นประจำ โดยการนำกระดาษที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม วางใส่ระหว่างหน้าผิวสัมผัสวัดทั้ง 2 ด้าน ก่อนหมุนแกนวัดทั้ง 2 ชนกระดาษเบา ๆ และดึงกระดาษขึ้นเล็กน้อยเพื่อทำความสะอาดปากวัด
3. ไม่ควรหมุนให้ผิวสัมผัสวัดทั้ง 2 ด้านมาจนกันจนแน่นเกินไป อาจทำให้เกิดความเสียหายจากแรงกดอัด ควรแก้ไขด้วยการนำกระดาษน้ำมันคั่นกลางไว้ เว้นระยะช่องว่างเล็กน้อยก่อนเก็บเข้ากล่อง
4. ไม่ควรวัดวัตถุที่มีผิวหน้าหยาบ เพราะจะทำให้ผิวสัมผัสงานเกิดความเสียหายได้
5. ไม่ควรใช้ไมโครมิเตอร์ขณะที่ชิ้นงานกำลังเคลื่อนที่ เพราะอาจเกิดความเสียหายกับเครื่องมือวัดได้
6. เพื่อรักษาความเที่ยงตรงของการวัด ควรสอบเทียบเครื่องมือวัดตามตารางการสอบเทียบอย่างสม่ำเสมอ
7. ขั้นตอนสุดท้ายของการวัดชิ้นงานคือ อ่านค่าขณะทำการวัดและบันทึกผล หากไม่สามารถอ่านค่าได้ ควรใช้ปุ่มปรับล็อก (Spindle Lock) ล็อกแกนวัดไม่ให้เคลื่อนที่ก่อนนำชิ้นงานออก

สรุป

หากเราเข้าใจการใช้งานไมโครมิเตอร์ (Micrometer) อย่างถูกต้อง ถูกวิธี ก็จะทำให้ความสามารถในการคำนวณการวัดขนาดสิ่งผลิตชนิด ต่าง ๆ  มีความเที่ยงตรง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงประเภทของการใช้เครื่องมือว่าถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ลักษณะของเครื่องมืออยู่ในสภาพพร้อมใช้งานมากน้อยเพียงใด  เพียงเท่านี้ ที่สำคัญต้องอย่าลืมคำนึงถึงมาตรฐานการรองรับเครื่องมือวัดที่ให้ผลลัพธ์การวัดที่มีความน่าเชื่อถือ การใช้งานเครื่องมือของคุณก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถควบคุมการผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูล
ไมโครมิเตอร์คืออะไร ? ใช้งานอย่างไร แบบจับมือทำ
https://www.sumipol.com/knowledge/micrometers-guide/
วิธีการเลือกใช้ Caliper / Micrometer 
https://www.sumipol.com/knowledge/selection-caliper-micrometer/

Scroll to Top