การผลิตสินค้าและบริการในยุคปัจจุบันนั้นมีความก้าวหน้าและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น นั่นหมายถึง องค์กรต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีทักษะในการทำงานเพื่อสามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของลูกค้าได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นพบว่าหลายองค์กรขาดแคลนทักษะในการผลิตสูงขึ้น ทำให้การผลิตสินค้าหรือบริการเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพ ในบทความนี้ เราจะพูดถึงศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัล ว่าเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้แก้ปัญหาการขาดแคลนทักษะการผลิตได้อย่างไร
การขาดแคลนทักษะในภาคการผลิต
การขาดแคลนทักษะในอุตสาหกรรมการผลิตเป็นปัญหาสำคัญและส่งผลกระทบต่อการเติบโตในธุรกิจภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะต่างๆ ในการทำงาน เช่น ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และอื่นๆ ซึ่งการขาดแคลนทักษะในภาคการผลิตเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ แรงงานมีอายุเพิ่มขึ้น ปัญหาด้านสุขภาพ การมีโปรแกรมการฝึกอบรมไม่เพียงพอ ความซับซ้อนในการทำงานที่มากขึ้น หรือมุมมองเชิงลบของบุคคลที่มีต่ออาชีพในภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมจึงจําเป็นต้องค้นหาวิธีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อดึงดูดและรักษาแรงงานที่มีทักษะไว้ เพื่อเติมเต็มตําแหน่งงานที่เปิดรับจำนวนมากขึ้น
ดิจิทัลเปลี่ยนแปลงการขาดแคลนทักษะอย่างไรบ้าง?
ระบบดิจิทัลกำลังเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการผลิต ช่วยให้ผู้ผลิตสามารถใช้กระบวนการอัตโนมัติ ซึ่งสามารถลดต้นทุนแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพได้ เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ (Machine Learning) และหุ่นยนต์ (Robotic) กำลังเข้ามาทดแทนแรงงานที่ทำงานในกระบวนการผลิตซ้ำๆ การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบอัตโนมัติส่งผลให้การพึ่งพาแรงงานที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูงในอุตสาหกรรมน้อยลงและช่วยให้ผู้ผลิตเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตสูงขึ้น
การเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลช่วยให้แรงงานที่ไม่มีทักษะการผลิตแบบเดิม สามารถเข้าถึงอุตสาหกรรมการผลิตได้ง่ายขึ้น ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เช่น Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) ทำให้แรงงานสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์หรือวัสดุที่มีราคาแพง ซึ่งสามารถดึงดูดผู้ผลิตให้ทำการฝึกอบรมแรงงานที่มีพื้นฐานและทักษะต่างกันได้ง่ายขึ้น
บทบาทของ Vision Measuring ในการควบคุมตรวจสอบคุณภาพการผลิต
การผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรม สินค้าที่ผลิตมีหลากหลายชนิด เช่น การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งแต่ละสินค้ามีวิธีการผลิตสินค้าที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่มีขั้นตอนที่เหมือนกันก็คือ การตรวจสอบคุณภาพของสินค้า การนำระบบ Vision Measuring เข้ามาใช้ในการผลิตทำให้การตรวจสอบคุณภาพในไลน์การผลิตง่ายขึ้น โดยระบบสามารถตรวจวัดชิ้นด้วยกล้องที่มีความละเอียดสูงด้วยความเร็วสูง เพื่อใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากระบบมีความแม่นยำและเที่ยงตรงกว่าในการใช้คนตรวจสอบข้อผิดพลาดของชิ้นงาน นอกจากนี้ระบบสามารถที่จะตรวจสอบชิ้นงานได้ทุกกระบวนการตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตไปจนกระบวนการสุดท้าย หรือการตรวจวัดชิ้นงานที่เล็กที่สุด ระบบจะมีการบันทึกข้อมูลรวมถึงการแจ้งเตือนข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ผลิตทราบถึงข้อผิดพลาดในขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าและแก้ไขได้ในทันที ซึ่งนำไปประยุกต์การใช้งานระบบ Vision Measuring ได้ดังต่อไปนี้
- การวัด (Measurement) คือ การวัดขนาดของวัตถุหรือชิ้นงานต่างๆ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการผลิต เช่น ความกว้าง ความหนา ความยาว และระยะห่างของรูบนวัตถุ
- นับจำนวน (Counting) คือ การนับจำนวนของวัตถุที่อยู่ในกระบวนการผลิต เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของปริมาณ
- กำหนดตำแหน่ง (Positioning) คือ การระบุตำแหน่งของวัตถุในสายการผลิตหรือระบุตำแหน่งที่เกิดข้อผิดพลาดจากการผลิต
- ถอดรหัส (Decoding) คือ การถอดรหัสของบาร์โค้ดในรูปแบบต่างๆ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของตัวอักษรบนวัตถุ
ซอฟต์แวร์ช่วยลดความซับซ้อนของกระบวนการตรวจสอบ
การขาดแคลนทักษะทำให้ผู้ผลิตบางรายเสนอโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมมากขึ้นซึ่งจะช่วยลดความซับซ้อน โดยมีการนำซอฟต์แวร์มาช่วยในกระบวนการตรวจสอบ เช่น Mitutoyo ผู้ผลิตเครื่องมือวัดชั้นนำของโลก มีการนำเสนอซอฟต์แวร์ Measurlink มาใช้เป็นระบบเครื่อข่ายข้อมูลการวัด เป็นแพลตฟอร์มที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยในการจัดการข้อมูลที่เป็นระบบตัวเลข (Statistical Process Control) เมื่อผู้ใช้งานทำการวัดขนาดด้วยเครื่องมือวัดดิจิทัลต่างๆ ข้อมูลการวัด จะถูกอัปโหลดไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ Measurlink ทำให้ผู้ใช้งานมองเห็นข้อมูลจากการวัดแบบเรียลไทม์บนแพลตฟอร์มได้ทันที เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมกระบวนการให้เกิดความมั่นใจในประสิทธิภาพของผลการวัด เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการควบคุมคุณภาพการผลิตสมัยใหม่
จากซอฟต์แวร์ต่างๆ เหล่านี้ ผู้ใช้งานจึงสามารถทำงานได้โดยมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการตรวจสอบจากการผ่านการฝึกอบรมเบื้องต้นหรือเพียงเล็กน้อย ด้วยการใช้หลักการและวิธีการผลิตของอุตสาหกรรม 4.0 มาช่วยในกระบวนการทำงานซอฟต์แวร์การตรวจสอบคุณภาพควรเป็นมาตรฐานสำหรับการตรวจสอบ และปรับปรุงการเข้าถึงข้อมูลคุณภาพการผลิต รวมถึงการสื่อสารผลการตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น ระบบการตรวจสอบที่ยืดหยุ่นสามารถช่วยลดความซับซ้อนต่างๆ ได้ด้วยการรวบรวมกระบวนการทั้งหมดไว้ด้วยกัน เพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจและทำงานร่วมกันจากหลายฝ่าย แทนที่จะเปลี่ยนวิธีการควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบทั้งหมดในแต่ละขั้นตอน จะใช้การปรับปรุงทั้งระบบการตรวจสอบและกระบวนการสื่อสารทำให้การตรวจสอบโดยรวมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประโยชน์และความท้าทายของดิจิทัลสำหรับผู้ผลิต
ประโยชน์
1. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น เนื่องจากระบบสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากกว่าใช้แรงงานคน
2.ลดข้อผิดพลาดในการผลิต การใช้แรงงานคนในการตรวจสอบคุณภาพการผลิตอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ (Human Error) ต่างจากการใช้ระบบดิจิทัลที่มีความสามารถในการตรวจสอบได้ละเอียดมากกว่า
3. ชิ้นงานมีคุณภาพมากขึ้น เมื่อข้อผิดพลาดในการผลิตน้อยลง และได้รับการแก้ไขที่รวดเร็ว ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
ความท้าทาย
ระบบดิจิทัลมีประโยชน์มากมายสำหรับผู้ผลิต แต่ก็มีความท้าทายหลายอย่างเช่นกัน
1. ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการผลิต แน่นอนว่ามีราคาสูง องค์กรขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก อาจจะไม่มีเงินลงทุนในเทคโนโลยีเหล่านี้เพียงพอ จึงต้องวิเคราะห์ผลที่ได้รับก่อนการลงทุนที่เสียไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าที่สุด หรืออาจเริ่มจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการเล็กๆ ก่อน
2. การลดจำนวนคน ในการผลิตซึ่งเป็นปัญหาอีกอย่างเช่นกัน เพราะส่งผลกระทบกับพนักงานที่ต้องถูกลดบทบาทหรือปลดออกไป องค์กรหลายแห่งต้องใช้แรงงานที่มีทักษะความรู้ทางด้านดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำงาน ซึ่งบางครั้งในการผลิตอาจจะใช้แรงงานคนน้อยลงหันมาใช้ระบบดิจิทัลและเครื่องจักรในการทำงานมากขึ้น
3. ความปลอดภัยทางไซเบอร์ เทคโนโลยีดิจิทัลมีความเสี่ยงต่อการโจมตีทางไซเบอร์เป็นอย่างมาก และผู้ผลิตจำเป็นต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อปกป้องการดำเนินงานของตนเอง และป้องกันข้อมูลสำคัญไม่ให้รั่วไหล หรือการถูกแฮกระบบต่างๆ