SIMTEC จัดอบรมโครงการพัฒนาบุคลากรอุตสาหกรรม 6 หลักสูตร “Lean IoT Plant management and Execution (LIPE)”

SIMTEC มุ่งหน้าพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมการผลิตขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย โดยจัดโครงการอบรมหลักสูตร LIPE : Lean IoT Plant Management & Execution ด้วยการสนับสนุนจาก AEM-METI Economic and Industrial Cooperation Committee (AMEICC) ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่ Thailand 4.0

โดยโครงการ “Lean IoT Plant Management and Execution (LIPE)” จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2563  ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการผลิตและการมองเห็นถึงปัญหาด้วยระบบ IoT เบื้องต้น ที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจได้จริง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม  ภายใต้ความร่วมมือจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ METI และสถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล (Sumipol Institue of Manufacturing Technology – SIMTEC) จึงเป็นที่มาของ 3 หลักสูตรเริ่มแรก ในโครงการ “Lean IoT Plant Management and Execution (LIPE)” โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. หลักสูตร Lean IoT for Beginner

หลักสูตรพื้นฐานความรู้ IoT เพื่อการบริหารจัดการภายในสถานประกอบการ และสายการผลิตตามแนวการผลิตแบบลีน และ TPM เพื่อให้สามารถมองเห็นถึงความสูญเสียที่เกิดจากเครื่องจักรที่สำคัญ (8 Big Losses) แบบเรียลไทม์และเรียนรู้การใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ (Sensor) และการเลือกเซ็นเซอร์ที่จำเป็นในการวิเคราะห์ข้อมูลเท่านั้น เพื่อให้เหมาะสมการการลงทุนระบบ

2. หลักสูตร  Lean IoT for Expert 

หลักสูตรที่มุ่งเน้นการหาความสูญเปล่าจากการทำงานของคน โดยใช้หลักการของ Total Productive Maintenance (TPM) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การวัดค่าประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักร (Overall Equipment Effectiveness; OEE) และการวัดค่าของประสิทธิภาพโดยรวมของคน (Overall Labor Efficiency; OLE) ผสานการออกแบบระบบ Low-Cost Automation (LCA) ช่วยเสริมสร้างการผลิตด้วยการลงทุนในระบบ IoT ที่เรียบง่าย มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมการผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม และสามารถนำไปใช้ได้จริง 

3. หลักสูตร Lean IoT for Energy 

หลักสูตรที่มุ่งเน้นการหาความสูญเปล่าที่เกิดจากพลังงาน โดยใช้หลักการ  Total Productive Maintenance (TPM) และ Energy Loss การคิดคำนวณต้นทุนจากการสูญเสียพลังงาน และการตรวจสอบหาจุดที่เกิดการสูญเสียพลังงานจากเครื่องจักร เพื่อลดความสูญเปล่าและลดต้นทุนของกระบวนการผลิต 

โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา ได้มีการเพิ่มหลักสูตรใหม่ 3 หลักสูตร สำหรับโครงการ Lean IoT Plant management and Execution (LIPE) คือ Quality Course, Processing Course และ Evaluation Course ในรูปแบบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เนื่องจากได้รับผลตอบรับดีจากผู้เข้ารับการอบรมทางสถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล (SIMTEC) จึงพิจารณาเพิ่มรอบการฝึกอบรม เพื่อตอบรับกระแสความสนใจการนำเทคโนโลยี IoT มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการลดต้นทุนการผลิตให้แก่บุคลากรอุตสาหกรรม โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.หลักสูตร Lean IoT for Quality 

หลักสูตรที่เน้นการตรวจสอบคุณภาพของชิ้นงาน โดยหลักสูตรนี้จะรวบรวมความรู้ด้านเทคโนโลยีการวัด วิธีการควบคุมคุณภาพ เทคนิคการแสดงผลแบบเรียลไทม์ เพื่อลดการเกิดของเสียหรือค้นหา Defect ชิ้นงาน และวิธีการควบคุมกระบวนการโดยการวิเคราะห์ข้อมูล

2.หลักสูตร Lean IoT for Processing 

หลักสูตรที่เน้นไปที่การปรับปรุงกระบวนการ โดยการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิตอลขั้นสูง เพื่อลดระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักร และการตรวจสอบคุณภาพของชิ้นงาน โดยรวบรวมความรู้ด้านเทคโนโลยีการวัด วิธีการควบคุมคุณภาพ รวมถึงเทคนิคการแสดงผลแบบเรียลไทม์ เพื่อลดการเกิดของเสียและวิธีการควบคุมกระบวนการโดยการวิเคราะห์ข้อมูล

3.หลักสูตร Lean IoT for Evaluation  

หลักสูตรที่เน้นการประเมินผลการตรวจสอบอุปกรณ์ในโรงงานและการเตรียมความพร้อมสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยใช้ระบบ IoT 

ทั้งนี้ การฝึกอบรมได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยมีผู้สำเร็จการอบรมตั้งแต่ปี 2563 จนถึงต้นปี 2567 เป็นจำนวนกว่า 1,500 คน ซึ่งจากการวัดประเมินผลหลังอบรมเสร็จสิ้น ผู้เข้าร่วมอบรมต่างได้รับความรู้และความเข้าใจในความรู้พื้นฐานของระบบ IoT การหาความสูญเปล่าจากการทำงานของคน เครื่องจักร และความสูญเปล่าด้านพลังงาน รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพของชิ้นงาน และการประเมินผลการตรวจสอบอุปกรณ์ในโรงงานและการเตรียมความพร้อมสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยใช้ระบบ IoT อีกทั้งยังสามารถนำความรู้ในส่วนนี้ไปต่อยอดและพัฒนาในองค์กร หรือหน่วยงานของตนเอง เพื่อให้สอดรับกับแนวทางการทำงานแบบวิถีใหม่และการพัฒนาสู่ Industry 4.0 

Scroll to Top